เทคโนโลยีการศึกษา
คำว่า "เทคโนโลยี”(Technology) มาจากรากศัพท์ "Technic" หรือ "Techno" ซึ่งมีความหมายว่า วิธีการ หรือการจัดแจงอย่างเป็นระบบ รวมกับ "logy" ซึ่งแปลว่า “ศาสตร์” หรือ “วิทยาการ” ดังนั้น คำว่า "เทคโนโลยี" ตามรากศัพท์จึงหมายถึง ศาสตร์ว่าด้วยวิธีการหรือศาสตร์ที่ว่าด้วยการจัดการ หรือการจัดแจงสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดระบบใหม่และเป็นระบบที่สามารถนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ที่ตั้งใจไว้ได้ ซึ่งก็มีความหมายตรงกับความหมายที่ปรากฏในพจนานุกรม คือ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ ดังนั้น เทคโนโลยีการศึกษาจึงเป็นการจัดแจงหรือการประยุกต์หลักการทางวิทยาศาสตร์กายภาพมาใช้ในกระบวนการของการศึกษา ซึ่งเป็นพฤติกรรมศาสตร์ โครงสร้างมโนมติของเทคโนโลยีการศึกษาจึงต้องประกอบด้วย มโนมติทางวิทยาศาสตร์กายภาพ มโนมติทางพฤติกรรมศาสตร์ โดยการประสมประสานของมโนมติอื่นที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น การประยุกต์หลักการทางวิทยาศาสตร์กายภาพทางวิศวกรรมและทางเคมีได้เครื่องพิมพ์และหมึกพิมพ์ สามารถผลิตหนังสือตำราต่างๆ ได้ และจากการประยุกต์หลักพฤติกรรมศาสตร์ทางจิตวิทยา จิตวิทยาการเรียนรู้ ทฤษฎีการเรียนรู้และหลักความแตกต่างระหว่างบุคคล ทำให้ได้เนื้อหาในลักษณะเป็นโปรแกรมขั้น ย่อย ๆ จากง่ายไปหายาก เมื่อรวมกันระหว่างวิทยาศาสตร์กายภาพและพฤติกรรมศาสตร์ในตัวอย่างนี้ ทำให้เกิดผลิตผลทางเทคโนโลยีการศึกษาขึ้น คือ "ตำราเรียนแบบโปรแกรม"
อีกตัวอย่างหนึ่งการประยุกต์วิทยาศาสตร์กายภาพเกี่ยวกับแสง เสียงและอิเล็กทรอนิกส์บนพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ใช้ระบบเลขฐานสองทำให้ได้เครื่องคอมพิวเตอร์ เมื่อประสมประสานกับผลการประยุกต์ทาง พฤติกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาการเรียนรู้ ทฤษฎีการเรียนรู้ หลักความแตกต่างระหว่างบุคคล หลักการวิเคราะห์งาน และทฤษฎีสื่อการเรียนการสอนแล้วทำให้ได้ผลผลิตทางเทคโนโลยีการศึกษา คือ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction: CAI)
จากข้อพิจารณาดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษามีสองลักษณะที่เน้นหนักแตกต่างกัน คือ
1. เทคโนโลยีการศึกษา หมายถึง การประยุกต์หลักการวิทยาศาสตร์กายภาพและวิศวกรรมศาสตร์ให้เป็นวัสดุ เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการเสนอ แสดง และถ่ายทอดเนื้อหาทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความหมายนี้พัฒนามาจากความคิดของกลุ่มนักโสต-ทัศนศึกษา
2. เทคโนโลยีการศึกษามีความหมายโดยตรงตามความหมายของเทคโนโลยี คือ ศาสตร์แห่งวิธีการ หรือการประยุกต์วิทยาศาสตร์มาใช้ในการศึกษา โดยคำว่า”วิทยาศาสตร์”ในที่นี้มุ่งเน้นที่วิชาพฤติกรรมศาสตร์ เพราะถือว่าพฤติกรรมศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งเช่นเดียวกับวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เป็นต้น
เทคโนโลยีการศึกษามีความสำคัญและมีความจำเป็นที่เด่นชัดในปัจจุบันนี้ คือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ในกระบวนการศึกษาด้วยเหตุผลสำคัญดังต่อไปนี้
1. ความเจริญอย่างรวดเร็วทางด้านวิชาการต่างๆ ของโลก โดยเฉพาะระยะหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา วิทยาการใหม่ ๆ และสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ได้ถูกค้นคิดประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ในสังคมมากมายเป็นทวีคูณ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวทางด้านหลักสูตรการเรียนการสอนของสถานศึกษา และส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อไปถึงปัญหาการเรียนการสอน การเลือกโปรแกรมและการทำความเข้าใจกับเนื้อหาสาระใหม่ๆ ของนักเรียน ความรุนแรงและความสลับซับซ้อนของปัญหาเหล่านี้มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปริมาณเนื้อหาวิชาการใหม่ ๆ มีมากมายเกินความสามารถของผู้เกี่ยวข้อง จะเลือกบันทึกจดจำและนำเสนอในลักษณะเดิมได้ จึงมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับสถานการณ์เข้ามาช่วย เช่น การเสนอข้อมูลทางวิชาการโดยเทปบันทึกเสียง เทปบันทึกภาพ ไมโครฟอร์ม และแผ่นเลเซอร์ การแนะแนวการเรียนโดยระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
2. การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดังกล่าวมาแล้ว มีผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิต การปรับตัว และพัฒนาการของนักเรียน การแนะแนวส่วนตัวและสังคมแก่นักเรียน จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ จึงจะสามารถให้บริการครอบคลุมถึงปัญหาต่าง ๆ ได้
3. ลักษณะสังคมสารสนเทศหรือสังคมข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นผลมาจากพัฒนาการทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีโทรคมนาคม ทำให้ข่าวสารทุกรูปแบบ คือ เสียง ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว กราฟฟิก และข้อมูลคอมพิวเตอร์สามารถถ่ายทอดและส่งถึงกันได้อย่างรวดเร็วทุกมุมโลก สังคมในปัจจุบันและอนาคตจะเป็นสังคมที่ท่วมท้นด้วยกระแสข้อมูลและข่าวสาร
ข้อมูลและข่าวสารจำนวนมหาศาลจะอยู่ที่ความต้องการของผู้ใช้อย่างง่ายดายมาก ความจำเป็นที่สถานศึกษาจะต้องเป็นแหล่งให้ข้อมูลข่าวสารจะหมดความสำคัญลง การแนะแนวในสถานศึกษาจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากการทำตัวเป็นแหล่งให้ข้อมูลมาเป็นการแนะแหล่งข้อมูล แนะนำการเลือกและการใช้ข้อมูลในการแก้ปัญหาและการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งบทบาทอย่างนี้จะทำให้สำเร็จได้ยากหากไม่สามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเชื่อมต่อกับระบบสารสนเทศในปัจจุบัน
มีผู้ให้คำนิยามของคำว่า เทคโนโลยีการศึกษา (Educational Technology) ไว้ดังนี้
วิจิตร ศรีสอ้าน (วิจิตร ,2517)ห้ความหมายว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นการประยุกต์เอาเทคนิควิธีการ แนวความคิด อุปกรณ์และเครื่องมือใหม่ๆ มาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษาทั้งในด้านการขยายงานและด้านการปรับปรุงคุณภาพของการเรียนการสอน
นอกจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ,2546)ยังได้สรุปเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนว่า "เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา" มีความหมายครอบคลุมการผลิต การใช้ และการพัฒนาสื่อสารมวลชน(อันได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์) เทคโนโลยีสารสนเทศ(คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต มัลติมีเดีย) และโทรคมนาคม (โทรศัพท์ เครือข่ายโทรคมนาคมและการสื่อสารอื่นๆ) เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ได้ตามความต้องการของผู้เรียนในทุกเวลาและทุกสถานที่
ทบวงมหาวิทยาลัย (ทบวงมหาวิทยาลัย,2546) นิยามว่า "เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา" เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการศึกษา โดยการนำสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม และการจัดแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ มาใช้เพื่อจัดให้การศึกษาที่สามารถผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนสามารถศึกษาค้นคว้าได้ตามความต้องการ เพื่อให้การเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตทั้งด้านการศึกษาสาระความรู้ทางวิชาการ ทางศาสนา และศิลปะ วัฒนธรรม สื่อเทคโนโลยีทางการศึกษาตามความหมายของทบวงมหาวิทยาลัยนั้น ครอบคลุมสื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อวิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ เครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตโทรสาร โทรศัพท์ และโทรคมนาคมอื่นรวมทั้งแหล่งการเรียนรู้ทั่วไป โดยมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้เต็มตามศักยภาพ ปราศจากข้อจำกัดด้านโอกาส ถิ่นที่อยู่ ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม
"เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา" ตามความหมายของร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ หมายถึง การนำสื่อตัวนำ คลื่นความถี่ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการแพร่เสียง ภาพ และการสื่อสารในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยครอบคลุมสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม สื่อโสตทัศน์ แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการและแหล่งการเรียนรู้หรือเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอื่นตามที่คณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติกำหนด
Carter V. Good(good,1973) กล่าวว่า เทคโนโลยีการศึกษาหมายถึง การนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อการออกแบบและส่งเสริมระบบการเรียนการสอน โดนเน้นที่วัตถุประสงค์ทางการศึกษาที่สามารถวัดได้อย่างถูกต้องแน่นอน มีการยึดหลักผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนมากกว่ายึดเนื้อหาวิชามีการใช้การศึกษาเชิงปฏิบัติโดยผ่านการวิเคราะห์และการใช้โสตทัศนูปกรณ์รวมถึงเทคนิคการสอนโดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ สื่อการสอนต่างๆ ในลักษณะของสื่อประสมและการศึกษาด้วยตนเอง
Gagne' และ Briggs (gagne',1974)ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีการศึกษานั้น พัฒนามาจากการออกแบบการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ โดยรวมถึง
1.ความสนใจในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลในเรื่องของการเรียนรู้ เช่น บทเรียน แบบโปรแกรม และ บทเรียนการสอนใช้คอมพิวเตอร์ช่วย เป็นต้น
2.ด้านพฤติกรรมศาสตร์และทฤษฏีการเรียนรู้ เช่น ทฤษฏีการเสริมแรงของ B.F. Skinner
3.เทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ เช่น โสตทัศนูปกรณ์ประเภทต่างๆ รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย
Heinich,MolendaและRussel(Heinich,1989) เสนอว่า เทคโนโลยีการศึกษาคือการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ให้ปฏิบัติได้ในรูปแบบของการเรียนและการสอนอีกนัยหนึ่งก็คือ การใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (ทั้งด้านยุทธวิธี Tactic และด้านเทคนิค) เพื่อแก้ปัญหาทางการสอนซึ่งก็คือความพยายามสร้างการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการออกแบบ ดำเนินการและประเมินผลการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ บนพื้นฐานของการศึกษาวิจัยในการเรียนและการสื่อสาร
กิดานันท์ มลิทอง(2545) ปัจจุบันนี้สมาคมเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและการสื่อสารได้ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เป็นทฤษฏีและการปฏิบัติของการออกแบบ การพัฒนาการใช้ การจัดการ และการประเมิน ของกระบวนการและทรัพยากรสำหรับการเรียนรู้ดังภาพต่อไปนี้
แผนภูมิแนวคิดของเทคโนโลยีการศึกษา
แนวคิดของเทคโนโลยีการศึกษาจึงประกอบด้วยส่วนสำคัญ 5 กลุ่ม คือ การออกแบบ(design) การพัฒนา (Development) การใช้(utilization)การจัดการ (management)และการประเมิน(evaluation)ซึ่งแต่ละกลุ่มจะโยงเข้าสู่ศูนย์กลางของทฤษฏีและปฏิบัติดังนั้นเทคโนโลยีการศึกษาจึงเป็นผสมผสานกันระหว่างความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นการประยุกต์เอาแนวคิดความคิด เทคนิค วิธีการ วัสดุอุปกรณ์ และสิ่งต่างๆ อันสืบเนื่องมาจากเทคโนโลยีมาใช้ในวงการศึกษานั้นเอง
เห็นได้ชัดเจนว่า "เทคโนโลยีการศึกษา" ครอบคลุมความหมายกว้างขวาง ซึ่งในภาษาสากลนั้น คำว่า Educational Technology มีความหมายรวมถึงเทคโนโลยีการสอน(Instructional Technology) เทคโนโลยีการเรียนรู้ (Learning Technology) สื่อการศึกษา (Educational Media) และคำอื่นๆ ที่มีความหมายอย่างเดียวกันเข้าไว้ด้วย แต่คำว่า Educational Technology) และ Instructional Technology ดูจะได้รับการยอมรับมากที่สุด โดยมักจะถูกใช้ในความหมายอย่างเดียว
ที่มา : http://74.125.153.132/search?q=cache:AMtoSpm0
SGcJ:www.nmc.ac.th/database/file_science/unit1.doc+%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2&cd=3&hl=th&ct=clnk&gl=th
หรือ http://www.nmc.ac.th/database/file_science/unit1.docใน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น